ตาเสือ ๑

Aphanamixis polystachya (Wall.) R. Parker

ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นดง, มะฮังก่าน, เย็นดง, เลาหาง (เหนือ); ตาปู่, มะยมหางก่าน (ตะวันออก)
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โคนต้นมักมีพูพอน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมสีชมพูเรื่อ แตกเป็นสะเก็ดห้อยลง ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงเวียน ใบอ่อนสีออกแดง มีใบย่อย ๑๑-๒๑ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนาน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ดอกแยกเพศและดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๓ กลีบ ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีค่อนข้างขาว ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลม ผลแก่สีออกชมพูหรือสีแดง เมล็ดสีน้ำตาลดำหรือสีดำ มี ๑-๓ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงแกมสีน้ำตาลอ่อน

ตาเสือชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๕ ม. เส้นรอบวง ๑.๕-๒ ม. โคนต้นมักมีพูพอน สูง ๑-๒ ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมสีชมพูเรื่อ แตกเป็นสะเก็ดห้อยลง เปลือกในสีชมพูอ่อน มักมีน้ำยางซึมออกมา กระพี้สีขาว แก่นสีออกชมพู

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๐.๔-๑.๒ ม. ใบอ่อนสีออกแดง มีใบย่อย ๑๑-๒๑ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบย่อยด้านข้างรูปขอบขนาน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ใบย่อยใบปลายรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๗-๒๕ ซม. ปลายหยักคอดเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือรูปลิ่มแคบเล็กน้อย มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบแบนราบหรือเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เมื่ออ่อนมีขนสากและเกล็ด เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได สังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๕-๑๕ ซม. โคนก้านค่อนข้างอวบและเป็นร่องทางด้านบน ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม. ยกเว้นก้านของใบย่อยใบปลายยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ก้านใบและก้านใบย่อยอาจมีขนประปราย

 ดอกแยกเพศและดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. มีช่อแขนงแผ่กว้าง ๑๕-๓๐ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๒๐ ซม. ทั้งก้านช่อดอกและช่อแขนงมีสันตามยาว ๔ สัน มีขน ก้านดอกสั้นมากและมีขน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กว้างประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปรี ปลายแฉกมน ขอบมีขนครุยสีแดงเรื่อ กลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีค่อนข้างขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น กว้างและยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕-๘ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๔ มม. เกลี้ยง ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้ แต่ช่อมักไม่แยกแขนงและมีดอกขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ช่อดอกยาวได้ถึง ๑ ม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขนหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียรูปทรงรี มี ๓ พู สีคล้ำ ดอกสมบูรณ์เพศคล้ายดอกเพศเมีย

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลม มักมี ๓ พู กว้าง ๒-๔ ซม. เมื่ออ่อนสีเหลืองอ่อน ผลแก่สีออกชมพูหรือสีแดง เกลี้ยง เมล็ดสีน้ำตาลดำหรือสีดำ มี ๑-๓ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงแกมสีน้ำตาลอ่อน

 ตาเสือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำแผ่นหน้าไม้อัด และทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือ ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aphanamixis polystachya (Wall.) R. Parker
ชื่อสกุล
Aphanamixis
คำระบุชนิด
polystachya
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Parker, Richard Neville
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Parker, Richard Neville (1884-1958)
ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นดง, มะฮังก่าน, เย็นดง, เลาหาง (เหนือ); ตาปู่, มะยมหางก่าน (ตะวันออก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย และนางสาวกนกพร ชื่นใจดี